ไวน์เก่า ณ ห้องลับใต้ดิน
มินิซีรีส์ "กรุของเก่า ณ บ้านหลังน้อยร้อยปี ประเทศฝรั่งเศส"
คำเตือน ห้ามอ่านตอนนี้ขณะขับขี่หรือปฏิบัติงานกับเครื่องมือ (เอ้ย บทความไม่ใช่แอลกอฮอล์ แต่ก็นั่นแหละ ห้ามอ่านเช่นกัน)
รวมทุกตอนใน มินิซีรีส์ "กรุของเก่า ณ บ้านหลังน้อยร้อยปี ประเทศฝรั่งเศส"
ความเดิมตอนที่แล้วจากตอน ตระกูลพีที และ ความลับ ณ ห้องใต้ดิน หนึ่งในมินิซีรีส์ เรื่อง กรุของเก่า ณ บ้านหลังน้อยร้อยปี ประเทศฝรั่งเศส
เราได้บุกไปถึงห้องหมักไวน์ของตระกูลพีที ได้อินไปกับบรรยากาศความขลังกร่นความน่ากลัว เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ครานี้จะพาเพื่อน ๆ มาอินลิ้มรสกับไวน์เก่าเก็บในห้องลับใต้ดินกันบ้าง
ห้องเก็บไวน์ใต้ดิน
ในห้องนี้มีไวน์สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนมากเป็นไวน์ในช่วงปี 1960-1975 สะสมโดยคุณพ่อของคุณผู้ชายของอิฉันเอง ท่านได้เชื้อสายและความมีรสนิยมในไวน์มาจากรุ่นคุณปู่คุณย่านั่นเอง ทั้งยังเคยทำงานในวงการไวน์อีกด้วย
ขึ้นชื่อว่าไวน์เก่าแค่นี้ก็ขลังแล้ว ตอบไม่ได้ด้วยเหตุผลกลใด ทันทีที่เปิดไวน์เก่าขึ้นมา บรรยากาศของค่ำคืนนั้นก็จะเต็มไปด้วยความพิเศษ อาจจะเพราะพลังงานบางอย่างที่อยู่ในนั้น ความใส่ใจของการผลิตรวมถึงความอดทนของการเก็บรักษา (อดทนที่จะไม่เอามาดื่มเสียก่อน) ไวน์เก่าบางขวดอาจไม่ได้ราคามูลค่าสูง แต่คุณค่าทางจิตใจนั้น ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมอบเป็นของขวัญให้กับคนที่เรารัก
ความรู้สึกของการดื่มไวน์เก่าเหล่านี้ สำหรับฉันมันต่างจากการดื่มไวน์สังสรรค์กับเพื่อน ๆ ที่เราดื่มเพื่อแกล้มกับบทสนทนา แต่สำหรับไวน์เก่า ๆ สีอัมพัน เวลาดื่ม ชวนให้นิ่งคิด ดิ่งลงสู่ห้วงอารมณ์ รำลึกไปถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต เรียกว่ารินไวน์เก่าซักแก้ว แล้วจิบช้า ๆ ขออยู่คนเดียวในความเงียบและใคร่ครวญความหลังเพียงลำพัง อารมณ์นี้เลยก็ว่าได้
ความตื่นเต้นอีกอย่างที่ฉันชอบมาก คือ การได้เปิดไวน์เก่าซักขวดให้เพื่อนที่มาเยี่ยมได้ชิม มนต์เสน่ห์ของห้วงเวลา ดั่งกับสะกดทุกคนให้เพ่งจุดสนใจไปที่สิ่งเดียว ทุก ๆ ครั้ง ฉันจะต้องได้ยินวลีนี้
“This wine is older than me.” ไวน์ขวดนี้อายุมากกว่าฉันเสียอีก
เป็นประโยคที่คาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเปิดขวดไหนกับใครก็ตาม ฉันเองก็พูดประโยคนี้เช่นกันเมื่อได้เห็นไวน์เก่าเป็นครั้งแรก ดีใจอายุยังน้อย แหม จะมีซักกี่ครั้งกันในชีวิตที่เราจะได้เห็นไวน์ที่มีอายุมากกว่าตัวเรา
เอาเป็นว่าเพื่อน ๆ คงอยากจะชิมกันแล้ว ให้คุณผู้ชายเธอโชว์ขวดเด็ด ๆ จากไวน์เนอรี่ที่มีชื่อเสียงกัน แท่น แท้น
ไวน์ที่คุณผู้ชายหยิบออกมาให้ได้ยล
ด้วยความที่อิฉันเองก็ไม่ได้มีความรู้ที่จะมาวิเคราะห์ให้ทุกคนฟังว่าแต่ละขวดมันพิเศษอย่างไร องุ่นพันธุ์ไหนรสชาติเป็นยังไง แล้วปีที่ได้มานั่นเป็นปีที่อากาศเป็นอย่างไร แต่เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้อรรถรสในการรับชม อิฉันอาศัยความเป็นนักคณิตศาสตร์เอาราคามาให้ยล และ ด้วยความที่อิฉันสนใจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ และ การลงทุน เลยต้องเอามุมนี้มาให้วิเคราะ์กันเล่น ๆ ก่อนอื่นมาทายกันก่อนว่าขวดไหนน่าจะมีราคาสูงที่สุด ห้ามโกงนะ ใครตั้งใจทายขอให้ได้มีโอกาสชิมไวน์เก่าดี ๆ ซักขวด เพี้ยง
แหล่งที่มาของราคาอิฉันเอามาจากเว๊ปไซค์ wine-searcher.com เว๊ปอื่นก็อาจจะต่างกันไปนะคะ ตามใจผู้ขายและตามกำลังผู้ซื้อ
เอาหล่ะมาดูเฉลยกันใครทายอะไรกันไปบ้าง
แท่น แท้น ขวดที่แพงที่สุดก็คือขวดที่ 3 ค่ะ ซึ่งเป็นไวน์จากไวนารี่ที่มีนามว่า Chateau Margaux (อ่านว่า ชาโตว์ มากูร์ ไวน์อะไร พูดจาไม่สุภาพเลย) เป็นไวนารี่ที่อยู่ในภูมิภาคเบอร์โด (Bordeaux) แหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะราว ๆ ปี 1960-70 ถือเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ อุตะ นอกจากจะมาจากประเทศที่เลื่องชื่อในการผลิตไวน์แล้ว ยังมาจากภูมิภาคที่ดังฝุด ๆ
ว่าแต่ภูมิภาคนี้เขามีกี่เจ้ากันที่ผลิตไวน์ เมื่อไม่รู้ต้องถามพี่กู๋ กูเกิลค่ะ
อุตะ จะเยอะไปไหน มีถึง 6000 ไวเนอรี่ ผลิตถึง 9000 ชนิดของไวน์ แล้วทำไมไวน์จากชาโตว์ มากูร์ (ขออภัยที่พูดจาไม่สุภาพ ภาษาฝรั่งเศสมันพาไป) มันถึงได้แพงหูดับตับไหม้ขนาดนี้ละ เพื่อดับอารมณ์สงสัย อิฉันจึงหันไปหาเพื่อนสาวชาวจีนผู้คว่ำหวอดในวงการไวน์ เพื่อนที่ชอบเอาของใหม่ ของแปลก ของอร่อยมาให้ลอง เธอผู้นั้นแหละค่ะ ดั่งกับนางฟ้ามาโปรด
ภาพหนึ่งในไวน์เทสติ้งที่นางนำมาให้อิฉันได้ทดลอง ไม่ได้มาแค่ไวน์นะเคอะ นางนำกับแกล้มมาด้วย อุ้ย ภาษาวงเหล้ามาก ที่นี่เขาเรียกหรู ๆ ว่า ไวน์ แพรริ่ง (wine pairing) คือการจับคู่อาหารที่เหมาะกับไวน์ต่าง ๆ ไวน์บางตัวรสเริ่ด แต่ถ้าจับคู่ผิดก็ดื่มเสียอารมณ์ได้นะเจ้าคะ ศิลปะขั้นสูงนี้ต้องอาศัยผู้ที่มีความเข้าใจความละเอียดอ่อนของไวน์ มีเพื่อนดี๊ดี อิฉันก็ฟินซิคะ กว่าจะทดลองหมดนั่น คิดสภาพ
มาต่อกันที่ชาโตว์ มากูร์กันค่ะ เพื่อนสาวผู้มากไปด้วยความรู้ เธอจึงได้อธิบายให้ฉันฟังว่าในโลกของไวน์นั้น ก็มีการจัดลำดับความเป็นเลิศศศศ (ลากเสียงยาว ๆ ประกอบค่ะ) คล้าย ๆ กับการประกวดนางงามจักรวาล บรรดานางงามไวน์ทั้งหลายก็จะผ่านการคัดเลือกเข้ารอบต่าง ๆ และ ไวน์ที่ดีที่สุดในแต่ละภูมิภาคจะถูกจัดเข้ากลุ่ม และกลุ่มที่ดีที่สุดนั้น เรียกว่า Grands Crus Classes (กรอง ครือ คลาสเซ่) ซึ่งได้มีการจัดลำดับในปี 1855 นี่แหละ ความเริศก็บังเกิดเพราะ Chateau Margaux (เย้ๆ น้องมากูร์) เป็นไวน์ที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มนี้ซิฮะ ปรบมือซิคร้าา รออะไร
ด้วยความสงสัยเราจึง Google เข้าไปดูว่านอกจาก น้องมากูร์ของอิฉัน ยังมีนางงามท่านใดที่ผ่านเข้ารอบกันบ้าง แท่นแท้น
โอ้ จอร์จ น้องมากูร์แน่มาก ในบรรดาสาวงามทั้ง 9000 จากผู้ส่งประกวดกว่า 6000 แห่ง ความงามเลิศ เหลือบรรเจิดสาดส่องมาที่สาวงามเพียงห้านางเท่านั้น และน้องมากูร์ของอิฉันก็คือหนึ่งในนั้น ตาเบิกโพลง ฉันว่าราคาค่าตัวนางออกจะต่ำไปเมื่อเทียบกับเวทีเจนจัดระดับโลกที่นางได้ผ่านมา
สายตาของอิฉันก็เหลือบไปเห็น Chateau Latour (ชาโตว์ ลาทัวร์) บรรทัดบนของน้องมากูร์ และ Chateau Mouton Rothschild (ชาโตว์ มูตง โรทชิลด์) บรรทัดล่างน้องมากูร์ โอ๊ะ โอ นั่นมันไวน์หมายเลข 4 และ 5 ของเรานี่นะ
โอ้จอร์จ เรามีถึงสามนางงามที่ผ่านสังเวียนใหญ่อยู่ในห้องไวน์นี้หรือนี่ ต้องเปลี่ยนชื่อห้องเก็บไวน์เป็นห้องเก็บตัวนางงาม สนนราคานางก็ไม่เบา หมื่นปลาย ๆ ถึง สองหมื่นนิด ๆ ดื่มไปอึกละพัน ตระลึงตึงตังไปกับความเวอร์วังยังไม่ทันได้หายใจหายคอ คุณผู้ชายเธอจึงหยิบนางงามรุ่นพี่มาให้ได้ยล
Chateau Latour (ชาโตว์ ลาทัวร์) ไซค์ยักษ์ ขนาด 3 ลิตร จากปี 1973 ทำเอาอิฉันถึงกับประหวัดว่าโต๊ะกระจกที่วางนี่มันจะแตกไหมฮะ
มาดูกันใกล้ เปิดทีต้องเชิญแขกมาทั้งหมู่บ้าน
ด้วยนิสัยนักคณิตศาสตร์ อิฉันต้องควานหาราคาค่าตัวของนางมาตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของอิฉัน แต่ไซค์นี้หายากจริง ๆ หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ได้ของใกล้เคียงมาที่ปี 2002 (มันใกล้กันตรงไหน) ราคาประมูลจบลงที่ €1,600 รวมภาษีและค่านายหน้า สิริรวม €1,964 เป็นเงินไทย 74,381 บาทโอ้พระเจ้าจอร์จเวอร์วังมาก ใครกันซื้อไปดื่มฟระนั่น
ถึงแม้จะไม่แน่ใจว่าพี่ลาทัวร์จัมโบ้นี้จากปี 1973 จะราคาเท่าไหร่ แต่ก็คงสามารถสรุปจากข้อมูลข้างเคียงได้ว่า ขวดนี้น่าจะเป็นขวดที่แพงที่สุด ข้าน้อยขอคารวะ ในความยิ่งเก่ายิ่งดี ยิ่งเก็บยิ่งแพง
อิฉันก็เพิ่งจะรู้ ว่าของสะสมพวกนี้ที่แต่ก่อนเคยมองว่าไร้สาระ ดื่มขวดสามร้อยหรือสามพันมันก็คือ ๆ กัน ข้าน้อยขออภัยในความรู้น้อย แต่ ปากไวช่างวิจารณ์
ขอขอบคุณแหล่งที่มา https://www.idealwine.com/fr/acheter-vin/B2103680-530-1-Double-magnum-Chateau-Latour-1er-Grand-Cru-Classe-2002-Rouge.jsp
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เรื่องรสนิยมความชอบก็ไม่ได้ขึ้นกับมาตรฐานโลก หรือ ราคาเสมอไป สำหรับฉัน ฉันชอบไวน์ใหม่เสียมากกว่า ราคาสิบยี่สิบยูโรก็เริศแล้ว แต่หากจะให้เลือกจากนางงามทั้งแปดด้านบน ฉันชอบขวดที่สองที่สุด Chateau Gruaud-Larose (ชาโตว์ กรูโอ ราโฮส) ขอเรียกว่า ราโฮส ละกัน
ขนาดว่าไม่ค่อยจะรู้เรื่องไวน์ ก็ต้องบอกว่าขวดนี้มีกลิ่นและรสชาติที่ตรึงใจเอาเสียมาก ๆ ขนาดว่าเปิดคู่กับไวน์ใน Grands Crus Classes อย่าง น้องหนูโรทชิลด์(Chateau Mouton Rothschild) ไวน์หมายเลข 5 ให้กับแขกคนสำคัญที่มาเยือน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณลาโฮส (Chateau Gruaud-Larose) นี้รสชาติดีแซงพี่ใหญ่ใน Grands Crus Classes ไปอย่างขาดลอย
แต่ที่เห็นจะได้ใจอิฉันที่สุด ก็คือขวดนี้ “แชมเปญ" (Champagne) ภาษาฝรั่งเศสเขาเรียกว่า “ชองปาญ" ไวน์มีฟอง ณ แคว้น “ชองปาญ" เป็นแหล่งเพาะปลูกองุ่นตอนเหนือสุดของฝรั่งเศส
ที่มาที่ ได้จากเพื่อนสาวชาวจีนเล่าให้ฟัง ประกอบกับความอยากรู้เลยหาอ่านตามเน็ตได้ความว่าในช่วงปี 1676 พระในนิกายเบเนดิกทีน ได้เป็นผู้คิดค้นและทดลองหมักไวน์มีฟองนี้ โดยการเติมน้ำอ้อยลงไปในไวน์ขาวที่ผ่านการหมักมาเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าพร้อมดื่ม และบรรจุลงขวดให้เกิดการหมักรอบที่สอง และกลายเป็นฟองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อพระท่านลองดื่มเครื่องดื่มฟองฟูนี้ ก็ถึงกับต้องตะโกนออกมาว่า
"Come quickly, I am tasting the stars!” มาเร็ว ฉันกำลังลิ้มชิมดาว
และในเวลาต่อมาก็กลายมาเป็นที่มา ของแชมเปญยี่ห้อแรกของโลก Moët & Chandon
แค่ฟังเขาเล่าก็ตื่นเต้นตาม มิต้องแปลกใจที่แชมเปญ หรือ ชองปาญ ที่หมักโดยพระโดยเจ้านี่ (แปลกจริงแหะ ทำไมพระเขาหมักไวน์ด้วย) กลายมาเป็นน้ำมนต์สะกดคนทั้งโลก น้ำสีทอง และ นวลฟองละเอียดนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความมั่งมี พระเจ้าอวยพรโดยแท้หน่อ
Moët & Chandon รุ่นวินเทจ ไซค์จัมโบ้ 1.5 ลิตร ฉลากนี้ไม่มีผลิตอีกแล้ว จากปี 1971 แชมเปญอายุกว่า ห้าสิบปีนี้ยังคงมนต์คลังของวันวาน และ ฟองนุ่มละมุมไม่เปลี่ยนแปลง
ของหายากแบบนี้ ดื่มหรือขายดีเจ้าคะ ภาพต่อไปคงอธิบายได้ดี
ภาพคุณผู้ชายเธอ ดื่มแชมเปญเพื่อระลึกถึงบุคคลที่เธอรักอันเป็นเจ้าของแชมเปญขวดนี้ ที่ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ของเธอนั่นเอง
พวกเราเปิดไวน์เก่า ๆ เหล่านี้ดื่มแทบทุกวัน (อย่าเพิ่งหมั่นใส้กันนะ) ทำไมน่ะหรือ ก็เพื่อเฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่ และเพื่อรำลึกถึงคุณพ่อคุณแม่ตระกูลพีทีที่ได้สะสมไวน์เหล่านี้เอาไว้ พวกท่านจะดื่มไวน์ซักขวดก็เมื่อมีโอกาสพิเศษมาถึง จนมาวันนี้พวกท่านไม่มีชีวิตอยู่กันแล้ว และไม่มีโอกาสได้เชยชมสิ่งที่พวกเขาเพียรเก็บสะสมมา มันทำให้เรานึกสะท้อนใจถึงอะไรแน่ คือสิ่งสำคัญที่แท้ของชีวิตมนุษย์ เรามักชอบเก็บสิ่งดี ๆ หรือสิ่งที่อยากทำไว้ในวันหน้า โดย หาได้รู้ไม่ว่าวันพรุ่งนี้อาจจะไม่มี ฉันเองก็เป็นพวกช่างเก็บ เอาไว้โอกาสพิเศษบ้าง เอาไว้ เอาไว้ จนหลาย ๆ ครั้ง ไอ้ที่เก็บ ๆ ไว้มันก็หมดอายุบ้าง พังบ้าง
ความตายของคนใกล้ชิดที่รักยิ่ง ทำให้พวกเราตระหนักได้ว่า ชีวิตมีสำหรับใช้ในวันนี้ ฉลองการมีชีวิตในทุก ๆ วัน เงินทองถ้ายังไม่ตายก็หาใหม่ได้ ชีวิตนี้สั้นนัก เราควรสั่งสมความดี และได้ทำหรือมีประสบการณ์ที่ใฝ่ฝัน ก่อนความตายจะมาเยือน
นอกจากไวน์ที่พวกเราเปิดดื่มในแต่ละวัน บรรดาจานชามรามไหเครื่องแก้วที่เก็บไว้เฉพาะโอกาสพิเศษ ได้ถูกนำออกมาใช้ เสมือนว่าทุกวันคือการฉลองการมีชีวิตอยู่ และถ้าวันไหนพวกเธอมาเยี่ยมพวกเรา ฉันจะเปิดไวน์ขวดพิเศษเหล่านี้มาฉลองการมาเยือนของเธอนะ
ดื่มแชมเปญกับเพื่อน ๆ ในวันครบรอบการจากไปครบ 49 วัน ของคุณแม่แห่งครอบครัวพีที
เขียน ๆ ไป ฉันก็อินน้ำตาเอ่อซะงั้น หวังว่าเพื่อน ๆ คงได้รับความรู้ และ ความสนุกสนานไปไม่มากก็น้อย ในตอนหน้าอิฉันจะใช้โอกาสนี้แนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับชายผู้มากด้วยรสนิยมอันเป็นต้นตอแห่งของสะสมในห้องไวน์นี้ ในตอน คุณพ่อเจ แห่งตระกูลพีที
หล่อเนอะว่าไหม คนอะไร ดูดีมีสไตล์มาก นึกว่าพระเอกหนังรุ่นเก่าเสียอีก อยากรู้เรื่องราวของคุณพ่อเจ ลงทะเบียนด้วยอีเมลล์รอรับชมกันได้เลยฮะ
สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ
รักเช่นเดิม